ขู่หรือใช้กำลังทำร้าย ผู้อื่นให้ลงชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้
ขู่หรือใช้กำลังทำร้าย ผู้อื่นให้ลงชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ ทั้งที่ความจริงไม่ได้มีการกู้ยืมเงินใดๆเพื่อที่จะเอาสัญญากู้นี้ไปเรียกร้องให้ชำระเงิน มีความผิดทางกฏหมายข้อใดบ้าง
ข้อหากรรโชกทรัพย์ ม.337 กับ ข้อหาชิงทรัพย์ ม.339
1. ข้อกฏหมาย ม.339
ม.339 (ชิงทรัพย์) คือ การลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือ ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ม.339 จะต้องมีพื้นฐานมาจากความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ม.334
ตัวบท ม.334 ใช้คำว่า “ลักทรัพย์” ไม่ได้ใช้คำว่า “ลักทรัพย์สิน” ซึ่งคำว่า “ทรัพย์” ไม่มีบัญญัติความหมายไว้ใน ป.อ. แต่มีบัญญัติความหมายไว้ใน ป.พ.พ. ม.137 ซึ่งหมายความว่า “วัตถุมีรูปร่าง”
แต่ ม.337 ใช้คำว่า “ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน” ดังนั้น จึงเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ สิทธิต่าง ๆ อะไรก็ได้
#ดังนั้น จุดต่างประการแรก คือวัตถุที่มุ่งหมายกระทำ
#ถ้า !! วัตถุที่มุ่งหมายไม่ใช่ ทรัพย์ที่มีรูปร่าง หรือสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบลักทรัพย์ แม้จะมีการข่มขู่หรือใช้กำลังก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
**ฎีกาที่ 2645/2543 จำเลยที่ 1 ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายเพื่อบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจำต้องลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยที่ 2พูดกับผู้เสียหายว่า คิดจะโกงหรืออย่ามาเล่นกับฉันนะ ในขณะที่จำเลยที่ 1กระชากคอเสื้อผู้เสียหายอยู่และต่อมาจำเลยที่ 1 ต่อยที่บริเวณหางคิ้วซ้ายผู้เสียหายจนบาดเจ็บเลือดออกและพูดกับผู้เสียหายว่าให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน มิฉะนั้นจะเจ็บตัวอีก ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงิน
สัญญากู้เงินก่อให้เกิดสิทธิในหนี้ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินแก่ผู้ให้กู้จึงเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ผู้ให้กู้ เมื่อจำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งสัญญากู้เงินจากการข่มขืนใจโดยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้เงินจากจำเลยที่ 2 อันเป็นการได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินจึง #เป็นการร่วมกันกระทำผิดฐานกรรโชก และทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย
2.ข้อกฏหมาย ม.337
ม.337 เป็นการขู่เข็ญ ให้เกิดอันตราย ต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ซึ่งกว้างกว่า การใช้กำลังประทุษร้าย หรือ ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายตาม ม.339
เพราะ คำว่า “ใช้กำลังประทุษร้าย” หมายถึง การทำให้เกิดอันตราย แก่กายหรือจิตใจ (การทำร้าย) และรวมถึงการทำให้อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เช่น สะกดจิตหรือทำให้มึนเมา และรวมถึงการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วย
ดังนั้น การขู่ว่าจะทำอันตราย ต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ย่อมไม่ผิดชิงทรัพย์ตาม ม.339 คงผิดแต่ ม.337 เท่านั้น
เช่น การขู่ว่าถ้าไม่ให้เงิน จะเผาบ้าน กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นชิงทรัพย์ เพราะการขู่ว่าจะเผาบ้านเป็นการขู่ว่า จะทำอันตราย ต่อทรัพย์สิน จึงเป็นกรรโชก (ฎ.1972/2521) หรือ การขู่ว่า จะจับ หรือควบคุมตัว เป็นการขู่ ต่อเสรีภาพ ย่อมไม่ผิดชิงทรัพย์ แต่ผิดกรรโชก เป็นต้น
การขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยให้ส่งมอบทรัพย์ในทันที ย่อมเป็นทั้งชิงทรัพย์ และกรรโชกทรัพย์
**หมายเหตุ แต่ถ้าให้ส่งให้ในเวลาอื่น ไม่ใช่ในทันที ไม่ผิดชิงทรัพย์ แต่ผิดกรรโชกทรัพย์เท่านั้น เพราะ ความผิดฐานชิงทรัพย์ การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องยังไม่ขาดตอนกับการลักทรัพย์ (ต้องต่อเนื่องกับการได้ทรัพย์มาไม่ขาดตอน)